ประวัติโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เดิมมีชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ตั้งอยู่ที่ถนนพญาไท ติดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนี้เดิมสังกัดอยู่กับจุฬาลงกรณ์ และเตรียมนักเรียนแผนกต่างๆ ไว้สำหรับเข้าศึกษาในคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ สภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้น เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๐ โรงเรียนเปิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๘๐ และนักเรียนเริ่มเรียนวันแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ฯพณฯ ศ.ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน
พ.ศ. ๒๔๙๐ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้โอนไปสังกัดกรมวิสามัญศึกษา และมีระเบียบกำหนดให้นักเรียนที่เรียนจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้สอบคัดเลือกเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับนักเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาของโรงเรียนทั่วไป ทั้งยังได้ตัดตำว่า "แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ออก คงเหลือคำว่า "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา" เท่านั้น
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงเป็นชื่อเฉพาะที่มีความหมายเช่นเดิม เพราะนักเรียนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้ ส่วนมากต้องการไปเรียนต่อชั้นอุดมศึกษา
พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มีการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาแห่งชาติใหม่เรียกชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๑ และ ปีที่ ๒ เดิมว่า ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ แบ่งเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ๕ แผนกศิลปะ แผนกวิทยาศาสตร์ และแผนกทั่วไป มีหลักสูตรสองปีเท่าเดิม
อนึ่ง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพราน ได้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โดยย้ายมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาบางปู ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้นต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๐๗ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพราน ก็ได้ย้ายเข้ามารวมอยู่กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ณ กรุงเทพมหานคร
ภารกิจหลักของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคือให้การศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมุ่งให้นักเรียนมีวุฒิ และมีความสามารถที่จะเข้าศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาตอนปลายสายสามัญชั้นสูงต่อไป นอกจากนี้ยังมุ่งปลูกฝังอุปนิสัย และสร้างเสริมให้นักเรียนมีบุคลิกภาพที่เหมาะสม มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้สมดังเอกลักษณ์ของโรงเรียน ที่ว่า "ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม"
นอกจากภารกิจที่สำคัญดังกล่าวแล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยังได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าสังกัด ให้ปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ที่สำคัญและควรกล่าวถึง เช่น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือด้านแนะแนวการศึกษาแก่โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนราษฎร์ที่มีชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งมอบหมายจนบรรลุความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของกรม ทั้งยังได้ส่งครู ไปช่วยสอนเพิ่มเติมในวันหยุดราชการให้แก่นักเรียนตามโรงเรียนที่ไได้ขอร้องมาเป็นพิเศษด้วย
พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีคำสั่งมอบหมายให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาช่วยเหลือทางด้านการวิชาการแก่ภาคการศึกษาทั้ง ๑๒ ภาค โรงเรียนจึงได้จัดส่งผู้ช่วยอำนวยการและหัวหน้าหมวดวิชาไปแนะนำการสอนให้กับครูตามศูนย์พัฒนาการศึกษาทุกภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ อยู่ในระดับเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและยังได้รับหน้าที่อบรมครูของกรมสามัญศึกษาที่จะไปสอนในส่วนภูมิภาคโดยจัดอบรม ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจนมีประสบการณ์พร้อมที่จะไปสอนตามแบบของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่พยาบาลของกองพยาบาลกระทรวงสาธารณสุช โดยโรงเรียนจัดอาจารย์ไปช่วยสอนพยาบาลที่จบชั้น ม.ศ. ๓ หรือ ม.๖ เดิม ซึ่งอาจดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลหรือพยาบาลที่รับราชการมานานในโรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งทางกองพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือกส่งมาเรียนเพื่อสมัครสอบเทียบชั้น ม.ศ. ๕ (มัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ) นอกจากนั้น โรงเรียนได้จัดหลักสูตรระยะสั้นแบบเร่งรัดเป็นการช่วยเหลือให้พยาบาลที่สามารถสอบได้ชั้น ม.ศ. ๕ แล้วได้เลื่อนวิทยฐานะปรับวุฒิหรือเรียนปริญญาต่อด้านสาธารณสุขศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเป็นครูพยาบาลต่อไปได้
นอกจากจะให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่โรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคดังกล่าวแล้ว โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังได้ดำเนินการช่วยเหลือในการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญ ๕ โรงเรียน คือ
๑. โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลวังทองหลาง ถนนลาดพล้าว เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔
๒. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ตั้งอยู่บนถนนพัฒนาการ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๑
๓. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ตั้งอยู่ถนนรามคำแหง แขวงสพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖
๔. โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย (เตรียมอุดมศึกษา) ตั้งอยู่ที่อำเภอปากท่อจังหวัดราชบุรี กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕
นอกจากนี้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายังได้ช่วยดูแลจัดวางระบบให้กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาค คือ
๑.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ ตั้งอยู่ที่อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒
๒.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉลียงเหนือตั้งอยู่ที่อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนคร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๒
๓.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งเรงเรียนเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖
พ.ศ. ๒๕๔๑ กรมสามัญศึกษาได้มอบหมายให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า "ศูนย์ฟิสิกส์" ซึ่งศูนย์ฟิสิกส์ยังได้รับมอบหมายจากมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปภัมถ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ให้เป็นศูนย์โอลิมปิกวิชาการ (สอวน.) สาขาฟิสิกส์ส่วนกลาง
โรงเรียนได้รับใบรับรอง ระบบงานว่าสอดคล้องกับ ISO 9002 : 1994 ภายใต้ขอบข่ายการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เลขที่ใบรับรอง Q90017 ซึ่งออกโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดการสอนนักเรียน ทั้ง ๓ ระดับชั้น (ม. ๔, ม. ๕, ม. ๖) ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ หมวดที่ ๖ มาตราที่ ๔๗ ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับทั้งระบบประกันคุณภาพภายในและระบบประกันคุณภาพภายนอก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้มีการประเมินการประกันคุณภาพภายในทุกปี และระหว่างวันที่ ๘-๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ ได้รับการประเมินการประกันคุณภาพภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และมีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก
นับตั้งแต่เริ่มตั้งโรงเรียนมาจนปัจจุบัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีผู้อำนวนการ ๑๓ ท่าน คือ
๑ | ![]() |
ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล | พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗ |
๒ | ![]() |
นายสนั่น สุมิตร | พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๔๙๔ |
๓ | ![]() |
นายสงวน เล็กสกุล | พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๐๕ |
๔ | ![]() |
คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู | พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๘ |
๕ | ![]() |
คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ | พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๒ |
๖ | ![]() |
คุณหญิงพรรณชื่น รื่นศิริ | พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๓๒ |
๗ | ![]() |
คุณหญิงพรรณี กาญจนะวสิต | พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๐ |
๘ | ![]() |
นายสมพงศ์ ธรรมอุปกรณ์ | พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๒ |
๙ | ![]() |
นายอัศวิน วรรณวินเวศร์ | พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๔ |
๑๐ | ![]() |
นางพรรณี เพ็งเนตร | พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๘ |
๑๑ | ![]() |
นางพิศวาส ยุติธรรมดำรง | พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๑ |
๑๒ | ![]() |
นายวิศรุต สนธิชัย | พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๖ |
๑๓ | ![]() |
ดร.ปรเมษฐ์ โมลี | พ.ศ. ๒๕๕๖-ปัจจุบัน |